แนวคิดเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของนักวิชาการสาขาต่าง ๆ ที่ควรรู้

คุณภาพชีวิต
June 30, 2023 0 Comments

หากถามคำนิยามเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต หรือการทำงานแน่นอนว่าเราอาจตอบได้เพียงแค่ผิวเผิน เช่น ค่าตอบแทนดี สังคมรอบข้างน่าอยู่ และมีปัจจัยต่าง ๆ เอื้ออำนวยให้เติบโต แต่อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในนิยามที่ถูกพูดถึง ซึ่งยังมีอีกหลากหลายมุมมองจากเหล่านักวิชาการสาขาต่าง ๆ ที่เราจะพาไปทำความรู้จักให้มากขึ้นในวันนี้ว่าพวกเขาเหล่านั้นมีความคิดและมุมมองอย่างไร และมีความสอดคล้องกันกับชีวิต ณ ปัจจุบันของเราหรือไม่

คุณภาพชีวิตคุณภาพการทำงานในมุมมองของนักวิชาการสาขาต่าง ๆ 

มุมมองที่เราจะพูดถึงต่อไปนี้ประกอบไปด้วย 4 นักวิชาการหลัก ได้แก่

1. นักเศรษฐศาสตร์ 

มีความเชื่อว่าคุณภาพชีวิตและการทำงานจะพัฒนาขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็จะกลายเป็นโอกาสให้เราพัฒนาศักยภาพ เพื่อเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มผลผลิต สร้างความก้าวหน้า และอัปเกรดคุณภาพชีวิต แต่อย่างไรก็ตามสำหรับแนวความคิดนี้มีการถกเถียงกันอย่างมาก เพราะหลายคนมองว่าคุณภาพชีวิตหรือคุณภาพการทำงานไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพียงแต่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

2. นักสังคมวิทยา

มุมมองของนักวิชาการทางด้านสังคมวิทยาได้อธิบายไว้ว่าคุณภาพชีวิตของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ รายได้ ความปลอดภัย สุขอนามัย การศึกษา สวัสดิการ การจ้างงาน การผลิตงาน สถานภาพบุคคล สถานที่อยู่อาศัย ความเสมอภาค การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ไปจนถึงวงจรการใช้ชีวิตของคนในครอบครัว จึงเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายได้ว่าบุคคลแต่ละกลุ่มมีแผนการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป ความพยายามในการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือคุณภาพการทำงานก็จะแตกต่างกันไปด้วย

3. นักสิ่งแวดล้อม

นักวิชาการทางด้านนี้มองว่าคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ หากสภาพแวดล้อมโดยรวมดี ก็บ่งบอกถึงคุณภาพชีวิต 

4. นักจิตวิทยา

สำหรับมุมมองของนักวิชาการด้านนี้ บอกเลยว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจเป็นหลัก กล่าวคือ การที่คนคนหนึ่งจะมีคุณภาพชีวิตหรือชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น ต้องมีความพึงพอใจในระดับหนึ่งกับสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่หรือต้องการ หรือบางคนอาจสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการใช้ชีวิตของตนเอง

เป็นอย่างไรกันบ้างกับมุมมองด้านคุณภาพชีวิตและการทำงานจากเหล่านักวิชาการหลายสาขา ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณารูปแบบการใช้ชีวิตของเรา ณ ปัจจุบันว่าคุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นแล้วจริง หรือหากยังไม่ดีขึ้นควรปรับปรุงไปให้ทางไหน ควรใส่ใจเรื่องใด หรือหากดีขึ้นแล้วจะทำให้ดีมากขึ้นได้ยังไง สรุปแล้วคุณภาพทั้งชีวิตและการทำงานนั้นมีหลายปัจจัยเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และสภาพจิตใจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง