คู่มือเลือกกองทุน RMF สำหรับมนุษย์เงินเดือนโดยเฉพาะ

กองทุน RMF
August 8, 2023 0 Comments

เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนต้องเคยได้ยิน หรือรู้จักกับกองทุน RMF กันมาบ้าง เพราะในช่วงชีวิตของผู้ที่ทำงานและมีเงินเดือนประจำ ส่วนใหญ่มักจะวางแผนเกษียณอายุไว้ที่ 55-60 ปี และหลังจากนั้นหลายคนจะพบกับคำถามที่ว่า “จะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายหลังเกษียณ” ด้วยเหตุนี้พนักงานเงินเดือนจำนวนมากจึงเลือกหลีกเลี่ยงคำถามที่จะเกิดขึ้นหลังเกษียณด้วยการลงทุนในกองทุน เพื่อใช้เป็นหลักประกันให้กับตัวเองในช่วงเกษียณ แล้วเราจะเลือกกองทุนอย่างไรให้เหมาะสม เรามีแนวทางมานำเสนอ เพื่อให้ทุกคนได้เลือกด้วยตัวเอง

เงื่อนไขกองทุน RMF ที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้

เนื่องจากกองทุน RMF เป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ มีจุดประสงค์เพื่อการดูแลตัวเองหลังเกษียณโดยเฉพาะ การใช้ความรอบคอบ การทำความเข้าใจ และการวางแผนบริหารการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนการเลือกกองทุนสำหรับมนุษย์เงินเดือนไม่มีอะไรที่ซับซ้อน เทคนิคการเลือกกองทุนอยู่ที่ “ควรเลือกกองทุนที่มีนโยบายตรงกับความสนใจ และสอดคล้องกับความเสี่ยงที่สามารถรับได้” เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาว และระหว่างการลงทุนต้องไม่ทำผิดเงื่อนไขกองทุน เพียงเท่านี้จะช่วยให้มนุษย์เงินเดือนมีเงินออมที่สามารถเป็นหลักประกันยามเกษียณได้ อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย และเพื่อให้ทุกคนประสบความสำเร็จตลอดเส้นทางการลงทุน เรามาทำความเข้าใจเงื่อนไขของกองทุน RMF ต่อพร้อมกัน

กองทุน RMF
  1. ต้องถือครองอย่างน้อย 5 ปี และซื้อเพิ่มอย่างน้อยปีเว้นปี

นักลงทุนต้องทราบว่า เมื่อตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม RMF แล้ว จะต้องถือครองไปอย่างน้อย 5 ปี โดยต้องซื้อเพิ่มอย่างน้อยปีเว้นปี แบบนับวันชนวัน และจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่ออายุครบ 55 ปี

  1. สามารถซื้อกองทุนได้สูงสุด 30% ของเงินได้ต่อปี 

นักลงทุนจะสามารถซื้อกองทุน RMF ได้ในอัตราไม่เกิน 30% ของเงินได้ต่อปี และเมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ จะต้องมียอดซื้อรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจซื้อกองทุนรวม RMF นักลงทุนจะต้องรวมยอดเงินทั้งหมดที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้า จากนั้นจึงนำมาหักจากยอด 500,000 บาท เหลือยอดเท่าไหร่ นั่นคือยอดสูงสุดที่ซื้อ RMF เพิ่มได้ในปีนั้น ๆ

  1. การขายคืนหน่วยลงทุน 

นักลงทุนจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดโดยที่ไม่เสียภาษีได้ต่อเมื่อ ถือครองกองทุนครบ 5 ปี และมีอายุครบ 55 ปี ด้วยวิธีการนับแบบวันชนวัน และถ้านักลงทุนซื้อกองทุนแบบปีเว้นปี ไม่ได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี ให้นับเฉพาะปีที่ซื้อกองทุนเท่านั้น และเมื่อขายคืนหน่วยลงทุนแล้ว หากต้องการที่จะซื้อกองทุนต่อ สามารถทำได้โดยให้เริ่มต้นนับปีที่ลงทุนใหม่ตั้งแต่ต้น 

เหตุผลสำคัญที่มนุษย์เงินเดือนควรมีกองทุน RMF เป็นหลักประกัน

มนุษย์เงินเดือนคือผู้ที่มีรายได้ประจำ ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกปี การวางแผนเพื่อการลดหย่อนภาษี ด้วยการซื้อกองทุนที่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ อย่างกองทุน RMF และกองทุน SSF คือเรื่องที่ควรพิจารณา และคำนวณกันแบบปีต่อปี เพื่อให้ค่าใช้จ่ายด้านภาษีมีจำนวนลดลง โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่มีอายุอยู่ในช่วงวัย 50 ปีขึ้นไป กองทุนรวม RMF จะช่วยเป็นหลักประกันชีวิตหลังเกษียณได้ดีว่า จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังเหตุผลอีกหลายประการที่เป็นการยืนยันว่า มนุษย์เงินเดือนควรเริ่มต้นศึกษากองทุนรวม RMF เพื่อการวางแผนชีวิตตั้งแต่วันนี้

  1. ได้รับเงินก้อนสำหรับใช้ยามเกษียณ

ด้วยการออมเงินระยะยาวต่อเนื่องกัน 5 ปี และมีเงื่อนไขที่จะขายคืนได้เมื่ออายุ 55 ปี โอกาสที่ผลตอบแทนจะเป็นบวกจึงมีอยู่สูง มนุษย์เงินเดือนจึงอุ่นใจได้ว่า ได้ลงทุนในกองทุนที่สามารถใช้เป็นหลักประกันชีวิตยามเกษียณ และจะมีเงินก้อนนำไปใช้จ่ายโดยที่ไม่ต้องเป็นภาระให้แก่ลูกหลาน

  1. เลือกลงทุนได้ตามนโยบาย ไม่มีการกำหนดขั้นต่ำต่อปี

นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนกับกองทุน RMF ได้ตามนโยบายของแต่ละกองทุน ซึ่งไม่มีนโยบายที่กำหนดขั้นต่ำต่อปี จะซื้อเท่าไรก็ได้ เพียงแต่การเปิดคำสั่งซื้ออาจจะมีการกำหนดขั้นต่ำของแต่ละกองทุน เช่น เริ่มต้นที่ 500-1,000 บาท ต่อการซื้อ 1 ครั้ง เป็นต้น

  1. เลือกระดับความเสี่ยงให้เหมาะสมกับตัวเองได้

ความเสี่ยงคือเรื่องที่นักลงทุนต้องพิจารณาเมื่อต้องการซื้อกองทุน โดยระดับความเสี่ยงจะถูกระบุเอาไว้ในหนังสือชี้ชวน ดังนั้นนักลงทุนต้องอ่านและศึกษาหนังสือชี้ชวนให้ละเอียดว่า นโยบายของกองทุนที่สนใจนั้นมีความเสี่ยงอยู่ในระดับใด และกองทุนนั้นเลือกลงทุนในทรัพย์สินใด ที่สำคัญคือตัวคุณเองสามารถยอมรับได้หรือไม่ หากรับไม่ได้ ให้เปลี่ยนไปพิจารณากองทุนอื่น ๆ อย่าฝืนลงทุนโดยที่มีความลำบากใจ

กองทุน RMF การลงทุนที่ช่วยให้มนุษย์เงินเดือนสามารถออมเงินได้ระยะยาว อีกทั้งยังมีเงินก้อนใช้ยามเกษียณ และในระหว่างการลงทุนยังสามารถนำเงินที่ซื้อไปหักลดหย่อนภาษี ช่วยให้มีเงินเหลือมากขึ้นกว่าเดิม โดยเทคนิคการเลือกกองทุนก็ไม่มีอะไรที่ซับซ้อน เพียงศึกษาเงื่อนไขกองทุนจนเข้าใจ อ่านนโยบายของแต่ละกองทุนอย่างละเอียด และตรวจสอบระดับความเสี่ยงว่า กองทุนที่ชอบมีความเสี่ยงที่รับได้ด้วยหรือไม่ เพียงเท่านี้มนุษย์เงินเดือนก็จะมีเงินที่ค่อย ๆ เติบโตเป็นดอกผลอยู่ในกองทุนแล้ว